; 14 พฤศจิกายน “วันเบาหวานโลก” World Diabetes Day -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

14 พฤศจิกายน “วันเบาหวานโลก” World Diabetes Day

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย



โรคเบาหวานคืออะไร

        โรคเบาหวานคือโรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับผิดปกติ
  
        แล้วแค่ไหนจึงจะเรียกว่าผิดปกติ : ในปัจจุบันหลายประเทศใช้เกณฑ์ระดับน้ำตาลที่ >126 มก./ดล. โดยมีข้อแม้ว่าเป็นค่าของน้ำตาลในน้ำเลือดหลังจากอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชม. แล้ว แต่ถ้าบังเอิญท่านไม่ได้อดอาหารมาก่อน แต่ต้องการตรวจเลยโดยไม่อยากกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น ท่านสามารถเจาะเลือดได้เลยโดยใช้ค่า 200 มก./ดล.เป็นเกณฑ์
        โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเร็วที่สุดคือจอประสาทตาเสื่อม เกิดขึ้นที่ระดับน้ำตาลในเลือด 126 มก./ดล. ดังนั้นความสำคัญของตัวเลขนี้ก็คือ ทุกคนควรจะเริ่มตระหนักว่า ถ้าเรามีระดับน้ำตาลสูงกว่า 126 เรามีโอกาสจะเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวของเบาหวานแล้ว แม้ว่าที่น้ำตาลระดับนี้จะไม่ทำให้เราเกิดอาการใด ๆ เลย ดังนั้นตัวเลขนี้จึงมีความหมายในการสร้างความตระหนักเพื่อให้เรามีมาตรการใด ๆ ก็ตาม ที่จะทำให้ระดับน้ำตาลของเราต่ำกว่า 126 แต่วิธีการจะทำให้ระดับน้ำตาลของเราต่ำลงนั้น จะเป็นวิธีที่ใดจะใช้วิธีกินยาหรือไม่ ถ้าใช้ยาจะใช้อย่างไร คงจะต้องมาพิจารณากันอีกที เพราะการควบคุมโรคเบาหวานนั้นมีหลายวิธี

อาการของโรคเบาหวาน

        อาการของโรคเบาหวานที่พบบ่อย:
        ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก หิวมากกว่าปกติ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย สมาธิไม่มี ชาปลายมือปลายเท้า ตามัว ป่วยบ่อย ติดเชื้อบ่อย คลื่นไส้ เวียนหัว หงุดหงิด ขบคิดปัญหาง่าย ๆ ไม่ดี แผลหายช้า คันผิวหนัง คันช่องคลอด อาการที่พบบ่อยนี้จะเริ่มสังเกตเห็นได้เมื่อระดับน้ำตาลสูงกว่า 200 มก./ดล. ทั้งนี้เพราะไตสามารถเก็บกักกลูโคสได้มากที่สุดประมาณ 160-180 มก./ดล. ที่ระดับน้ำตาลสูงกว่านี้กลูโคสเป็นสารที่ดูดน้ำเอาไว้ จึงพาเอาน้ำและเกลือแร่อย่างอื่นเช่นโซเดียม ขับออกมาเป็นปัสสาวะจำนวนที่มากกว่าปกติ ผู้ป่วยจะสังเกตได้ง่ายคือแม้ไม่รับประทานน้ำในขณะหลับ ก็ยังต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ ส่วนอาการผิวแห้ง คัน กระหายน้ำนั้นเป็นผลพวงของปัสสาวะที่มากนั่นเอง ส่วนอาการทางอารมณ์และสมอง เกิดจากความหนืดของเลือดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสมองสามารถสังเกตได้ค่อนข้างไวนั่นเอง

สาเหตุการเกิดโรคเบาหวาน
 
        เบาหวานชนิดที่ 1
        1 ใน 3 ของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบโรคออโตอิมมูนชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคระบบทางเดินอาหาร และ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นต้น

        เบาหวานชนิดที่ 2
        ชนิดนี้พบมากที่สุด (ประมาณ 90%) ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดเนื่องจากภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) เมื่อรับประทานอาหาร ตับอ่อนพยายามผลิตอินซูลิน เพื่อนำน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์ไปใช้เป็นพลังงาน แต่ภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินทำหน้าที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นเบาหวาน และเมื่อเป็นเบาหวานที่ไม่ได้รักษา น้ำตาลที่สูงเป็นระยะเวลานาน ยังส่งผลให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อเซลล์ตับอ่อน (glucotoxicity) ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่ได้ เกิดภาวะขาดอินซูลิน (insulin secretory defect) ร่วมด้วย

        เบาหวานชนิดที่ 2 มีลักษณะทางคลินิกดังนี้   
        - ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 30 ปี
        - อาการเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่มีอาการ มักตรวจพบเมื่อเช็คสุขภาพทั่วไปโดยบังเอิญ
        - มีรูปร่างอ้วนท้วม (abdominal obesity) รับประทานอาหารมากเกินกว่าพลังงานที่ใช้ ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย (sedentary lifestyle)
        - มีประวัติเบาหวานในครอบครัว

        เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่    
        1. เบาหวานที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์
        2. เบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ หมายถึง ก่อนตั้งครรภ์ไม่เป็นเบาหวาน พอตั้งครรภ์ขึ้นมาทำให้เป็นเบาหวาน โรคเบาหวานที่เกิดก่อนการตั้งครรภ์พบได้น้อยกว่าโรคเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ในคนไทยพบประมาณร้อยละ 0.5 ของหญิงตั้งครรภ์ ส่วนโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นพบได้มากถึงร้อยละ 5-20 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการวินิจฉัย

        ใครที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  
        ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ
        - ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี
        - อ้วน
        - มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว
        - มีประวัติคลอดบุตรตัวโตมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป
        - มีประวัติแท้งบุตรหลายครั้ง หรือทารกตายแรกเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ

        เบาหวานอื่น ๆ
        เบาหวานชนิดนี้ที่มีสาเหตุเฉพาะ (Other specific types of diabetes) ที่ทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนเสียหน้าที่ เบต้าเซลล์ทำงานผิดปกติ จึงหลั่งอินซูลินน้อยลง ร่างกายนำน้ำตาลในเลือด ไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และเป็นเบาหวาน สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ ได้แก่
        - โรคของตับอ่อน: ผ่าตัดตับอ่อน หรือตับอ่อนอักเสบ
        - ยีนที่ควบคุมการทำงานของตับอ่อนผิดปกติ (monogenic defect of pancreatic beta cell) เช่น maturity-onset diabetes of the young (MODY)
        - ความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการทำงานของอินซูลิน
        - โรคต่อมไร้ท่อ อื่นๆ เช่น เนื้องอกต่อมหมวกไตหรือเนื้องอกต่อมใต้สมองบางชนิด ที่ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติ (acromegaly, cushing syndrome, pheochromocytoma)
       - โรคที่มีความผิดของโครโมโซม เช่น Down's syndrome, Turner syndrome, Klinefelter syndrome
       - โรคที่มีความผิดปกติของอิมมูน เช่น autoimmune disease, insulin receptor antibody
       - ยา หรือสารเคมีบางชนิดที่ทำให้การหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนผิดปกติ เช่น สเตียรอยด์
       - ไวรัสบางชนิด เช่น ติดเชื้อหัดเยอรมันตั้งแต่เกิด


การรักษาโรคเบาหวาน

        โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่หายขาด จะต้องควบคุมโรคไปตลอดชีวิต และอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติในการดูแลตนเองตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดย

        1. การควบคุมอาหาร
            - ลดอาหารจำพวกแป้งลง หรืออาหารที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น ข้าวมันไก่ คุกกี้ เค้ก พาย ขนมหวานต่าง ๆ
            - หลีกเลี่ยงการกินเนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทอดต่างๆ
            - หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไยแห้ง ผลไม้ตากแห้ง
            - งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

        2. การออกกำลังกาย  เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยสามารถทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงได้ เนื่องจากขณะออกกำลังกายจะต้องใช้พลังงานและแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของร่างกายคือน้ำตาล หากออกกำลังกายเพียงพอ ร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนไปเป็นพลังงานมากพอที่จะลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น กล่าวคือ อินซูลินปริมาณเท่าเดิม แต่ร่างกายจะสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วน ได้เคลื่อนไหวออกแรงพร้อม ๆ กัน และไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ ๆ และการว่ายน้ำ การทำท่าบริหารข้อต่อและกล้ามเนื้อต่าง ๆ

        3. การใช้ยา ซึ่งมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีด ซึ่งจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่อาจจะเกิดขึ้น
1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) จะมีอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก สั่น ตัวเย็น ซีด หิว กระวนกระวาย ความรู้สึกตัวลดลง สับสน อาจหมดสติ เมื่อมีอาการดังกล่าวให้รีบดื่มน้ำหวานหรืออมทอฟฟี่ ถ้าไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ญาติควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) จะมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หอบ ระดับความรู้สึกตัวลดลง ซึมลง

        4. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่
         - ตา ถ้ามีอาการผิดปกติทางตา เช่น ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ควรปรึกษาจักษุแพทย์
         - ไต ลดการทำงานของไตโดยการงดอาหารเค็ม รับประทานอาหารโปรตีนน้อยลง หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อไต
         - ระบบประสาท ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและบริหารมือและเท้าเพื่อช่วยลดอาการประสาทส่วนปลายเสื่อม ลดอาการชาบริเวณปลายมือปลายเท้า
         - ระบบหัวใจและหลอดเลือด ลดปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย และความดันโลหิตสูง รวมทั้งการมารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่แพทย์จะได้จัดการเรื่องการใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นเบาหวาน

        1. รับประทานยาตามมื้อที่แพทย์สั่ง ตรงเวลา สม่ำเสมอ รู้ชื่อยา ควรนำยาติดตัวไปด้วย
        2. ทราบผลข้างเคียงของยา ควรปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่ามีอาการข้างเคียงของยา
        3. ทราบวิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยหรือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น เกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูง
        4. ผู้ป่วยเบาหวานที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเนื่องจากยาเบาหวานชนิดรับประทานสามารถผ่านทางรกไปสู่เด็กและผ่านทางน้ำนมได้
        5. การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก อาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อร่วมกับทานยาเม็ดลดระดับน้ำตาลจะมีการลดการสร้างน้ำตาลจากตับ จากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ในบางครั้งแอลกอฮอล์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ เนื่องจากให้พลังงานสูงเทียบเท่ากับไขมัน
        6. ออกกำลังกายที่เหมาะสม สม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์
        7. ควรงดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
        8. ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ
        9. ควรมีน้ำตาลหรือลูกอมพกติดตัวไว้ ถ้ามีอาการใจสั่น หน้ามืด หิว ตาลาย ให้รีบกินทันที
       10.การดูแลรักษาเท้าเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงมากกว่าคนปกติ ควรมีการบริหารเท้า ดูแลความสะอาดของเท้า พร้อมทั้งเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ระวังไม่ให้เกิดแผล ถ้ามีแผลให้รีบรักษาทันที
       11.มาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด หรือก่อนนัดเมื่อมีปัญหา

การสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์

        มีอาการน้ำตาลต่ำ แก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น มีแผลที่เท้า มีอาการบวมที่เท้า อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง มีไข้ มีการติดเชื้อในร่างกาย มีอาการน้ำตาลในเลือดสูง


มาทดสอบดูว่า ความหวานจับใจคุณแล้วหรือยัง
และแนะนำ 7 วิธีที่จะช่วยให้เรานำความหวานออกไปจากใจได้
โดย ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


        ความหมายของคำว่า “หวานจับใจ” ในที่นี้จะหมายถึงว่าความชอบในรสชาติหวานได้เข้ามาจับและติดอยู่ในใจของผู้ที่ชื่นชอบความหวานจนอาจเรียกได้ว่าติดความหวาน และการที่ได้รับน้ำตาลมากขึ้น พลังงานที่ได้รับก็มากขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ เช่น ฟันผุ ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคกระดูกและข้อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น

        รู้ได้อย่างไรว่าหวานจับใจแล้ว 
        - รู้สึกอยากขนมหวานที่ตัวเองชอบเรื่อย ๆ
        - รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี เมื่อไม่ได้กินอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาล
        - รู้สึกหิวบ่อย
        - คิดถึงอาหารอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าเพิ่งกินอาหารเสร็จ
        - มีนิสัยกินอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ
        - มีของติดตู้เย็นที่เป็นของหวานอยู่ตลอด
        - ชอบผลไม้รสหวาน เช่น มะละกอ ทุเรียน สับปะรด
        - ชอบผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม
        - ชอบอาหารกลุ่มซีเรียลเคลือบน้ำตาล
        - ทำอาหารทุกจานต้องเติมน้ำตาล เช่น ไข่เจียวเติมน้ำตาล ทำพริกน้ำปลาเติมน้ำตาล
        - ชอบงานเลี้ยงสังสรรค์ เพราะมีอาหาร เครื่องดื่มและของหวาน
        - ในมื้ออาหารมักจะเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

วิธีการเอาหวานออกจากใจ

        1. ลดการเติมน้ำตาลลงในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมต่าง ๆ ในทีนี้ไม่แนะนำให้หักดิบโดยการเลิกการกินอาหารหวานหรือน้ำตาลทั้งหมดในทีเดียว เนื่องจากร่างกายจะไม่ยอมรับและทำได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ในไม่ช้าจะกลับมามีพฤติกรรมการกินของหวานดังเดิมหรือมากกว่าเดิม เพราะการที่เลิกของหวานทั้งหมดในทีเดียวร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ อ่อนแรง คลื่นไส้ เป็นต้น ดังนั้นแทนที่จะเลิกความหวานในทันทีให้ลดลงทีละน้อย ๆ ให้เวลากับตัวเอง 1 - 2 เดือน เพื่อให้ชินกับความหวานที่ลดลง ลิ้นก็จะชินกับอาหารที่ไม่หวานและปรับได้ดี

        2. ดื่มน้ำเปล่าเป็นหลัก พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เนื่องมาจากหากร่างกายขาดน้ำจะทำให้รู้สึกหิวและเพิ่มความอยากความหวานมากขึ้น การดื่มน้ำเปล่าประมาณ 1 แก้ว เมื่อรู้สึกอยากความหวานจะช่วยลดความอยากลงได้

        3. เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ข้าวกล้อง ผลไม้รสชาติไม่หวาน ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง ใยอาหารจะช่วยลดความอยากความหวาน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

        4. ลดการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมหวาน มาติดบ้านเป็นประจำ ก่อนเลือกซื้อก็ควรที่จะอ่านฉลากโภชนาการเพื่อเปรียบเทียบปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมด้วย เมื่อเวลาอยากกินหวาน แต่ไม่มีอยู่ใกล้ตัวก็จะช่วยลดปริมาณการกินลงได้

        5. จดบันทึกอาหารที่กินเข้าไปเพื่อที่จะได้เห็นรูปแบบของอาหารที่เรากินในแต่ละวัน และประเมินดูว่าเรากินอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมใดบ้างที่มีความหวานนำ จดบันทึกความหิว ความอยากอาหารและช่วงเวลาที่กินอาหาร การจดบันทึกการกินนี้จะช่วยให้เห็นว่าเรามีพฤติกรรมการกินอย่างไรและช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ง่ายขึ้นโดยลดข้ออ้างต่าง ๆ ได้
         
         6. ในแต่ละมื้ออาหารควรมีอาหารให้หลากหลาย โดยมีทั้งข้าว ไขมันและโปรตีน เนื่องจากโปรตีนและไขมันจะช่วยให้ระดับน้ำตาลคงที่และทำให้รู้สึกอิ่มได้นานกว่าการกินข้าวหรือแป้งอย่างเดียว

         7. หากิจกรรมอย่างอื่นทำเมื่อรู้สึกอยากกินของหวาน ๆ เช่น ออกกำลังกาย เขียนหนังสือ ทำความสะอาดบ้าน เพราะเมื่อสมองสั่งการว่าอยากกินแล้ว (ความรู้สึกอยากไม่ใช่หิวเพราะถ้าหิวต้องกินแต่อยากรอได้) ความรู้สึกอยากของหวานจะอยู่ประมาณ 20 - 30 นาที หากทำกิจกรรมอย่างอื่นก็อาจช่วยให้ความอยากความหวานลดลง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังมีส่วนช่วยให้เพิ่มระดับฮอร์โมนเอนโดรฟินที่ทำให้อารมณ์ดี เพราะหนึ่งในเหตุผลของคนที่ชอบความหวานคือรู้สึกอารมณ์ดีเมื่อได้รับน้ำตาล

         ความหวานแม้จะทำให้เรารู้สึกดี มีความสุขทุกครั้งที่ได้กิน แต่เมื่อมากเกินไปก็นำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพได้เช่นกัน เมื่อเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการกินหวานลงได้ ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพดีขึ้นและห่างไกลโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว อีกเหตุผลว่าทำไมเราคนไทยจึงควรกินหวานให้น้อยลง ก็เพราะว่าความเป็นไทยเราควรเป็นคน “อ่อนหวาน” นั่นเอง
________________________________________

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในชุดโครงการ "รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง"
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)